xs
xsm
sm
md
lg

สศอ.เผยน้ำตาลดันดัชนีอุตสาหกรรมพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยการผลิตน้ำตาล ฤดูกาล 2549/2550 คึกคัก ปริมาณอ้อยป้อนโรงงานดีเกินคาด หลังเกษตรกรได้รับแรงหนุนขยายพื้นที่ปลูก หนุนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.43 พร้อมระบุอุตสาหกรรมหลัก ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์-เหล็ก-เบียร์ เป็นแรงเสริม

นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยทิศทางขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม จากการจัดทำรายงานดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2550 ว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 7.43 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยมีอุตสาหกรรมหลักหนุนการขยายตัวที่สำคัญ คือ การผลิตน้ำตาล การผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ การผลิตเหล็ก การผลิตเครื่องปรับอากาศ การผลิตเม็ดพลาสติก การผลิตเบียร์ และการผลิตยาสูบ สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.5 ซึ่งปัจจัยหนุนที่ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับเพิ่มขึ้น ยังคงเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เน้นการส่งออกเป็นหลัก

นางอรรชกา กล่าวว่า การผลิตน้ำตาลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็นต้นมา เป็นการเริ่มฤดูกาลผลิตปี 2549/2550 ซึ่งฤดูกาลนี้มีปริมาณอ้อยเข้าสู่กระบวนการผลิตมากเป็นพิเศษ เนื่องจากเกษตรกรได้รับการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น สำหรับภาวะการผลิตน้ำตาลจนถึงสิ้นเดือนมกราคม 2550 มีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานทั้งสิ้น 31 ล้านตัน ซึ่งสามารถผลิตเป็นน้ำตาลรวม 3.1 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.88 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแยกเป็นน้ำตาลทรายดิบ 1.9 ล้านตัน น้ำตาลทรายขาว 1.1 ล้านตัน ส่วนการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 62.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการผลิตที่มากขึ้น สามารถส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันตามกำหนด รวมทั้งการส่งออกมีทิศทางที่ดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปีที่แล้วประสบปัญหาน้ำตาลขาดแคลนและมีราคาสูง ทำให้การส่งออกชะลอตัวลงในช่วงต้นปี โดยคาดว่าปริมาณอ้อยที่เข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำตาล ในฤดูกาลผลิตปี 2549/2550 จะมีประมาณ 60 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 สามารถผลิตเป็นน้ำตาลได้กว่า 6 ล้านตัน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 28-30 จากปีก่อน (2548/2549) ที่มีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงาน 46.7 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ 4.8 ล้านตัน

ส่วนการผลิตคอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มยังคงเป็นการผลิต Hard Disk ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 และจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.3 เนื่องจากมีการขยายโรงงานเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการผลิตสินค้าเข้าสู่ระบบได้มากขึ้นเช่นกัน อีกทั้งความต้องการของตลาดยังมีสูง โดยเฉพาะ Hard Disk Drive ที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถสนองความต้องการใช้งานได้หลากหลาย และเริ่มมีการเปิดตัว Hard Disk สำหรับโน้ตบุ๊ก ความจุ 1 เทราไบต์ หรือเท่ากับ 1,000 กิ๊กกะไบต์ ที่มีประสิทธิภาพสูง เก็บข้อมูลได้มากขึ้น ทั้งไฟล์ภาพ วิดีโอ ไฟล์เพลง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัย สะดวกต่อการใช้งานของผู้บริโภคสมัยใหม่ จึงเป็นปัจจัยหนุนให้ Hard Disk Drive มีอัตราการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง

การผลิตเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือเป็นการขยายตัวปกติที่ไตรมาสแรกของปีจะเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อเข้ามามากที่สุด ส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นสูงมาก ส่วนการผลิตเม็ดพลาสติก หลังจากมีผู้ผลิตบางรายที่หยุดการผลิตได้เริ่มกลับเข้ามาเดินเครื่องผลิตอีกครั้ง ทำให้มีการผลิตเพิ่มขึ้น อีกทั้งผู้ผลิตบางรายได้รับคำสั่งการผลิตจากบริษัทแม่ ให้เร่งผลิตสินค้าให้ทันต่อการกำหนดส่งมอบภายในเดือนมีนาคม จึงทำให้การผลิตเพิ่มขึ้นมาก โดยแนวโน้มของอุตสาหกรรมการผลิตเม็ดพลาสติกในปี 2550 คาดว่าจะยังคงมีความต้องการเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตเบียร์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ยังมีทิศทางการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิตรายใหญ่ยังคงเดินหน้าผลิตสินค้า เพื่อเตรียมการต้อนรับเทศกาลสงกรานต์ และการผลิตยาสูบ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 37.17 เนื่องจากเมื่อปีก่อนมีการปิดซ่อมเครื่องจักรบางส่วน และเป็นช่วงที่มีการรณรงค์ลดการบริโภคยาสูบ การผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบจึงค่อนข้างน้อยในต้นปีที่แล้ว

นางอรรชกา ยังกล่าวอีกว่า ในเดือนมกราคมนี้ ยังมีอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ที่สำคัญได้แก่ การเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมทั้งการทอสิ่งทอ และการผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ โดยการเตรียมและการปั่นเส้นใยสิ่งทอ รวมทั้งการทอสิ่งทอ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งการผลิตและจำหน่ายลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะการเมืองและเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่รุนแรง โดยคู่แข่งที่สำคัญ คือ จีนและเวียดนาม สามารถผลิตสินค้าในจำนวนที่มากกว่าด้วยต้นทุนต่ำกว่า และสามารถส่งมอบสินค้าได้ตามที่ลูกค้าต้องการ

สำหรับตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2550 จากการรวบรวมทั้งสิ้น 53 กลุ่มอุตสาหกรรม 215 ผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมผู้ประกอบการ 2,121 โรงงาน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2549 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าเพิ่ม) อยู่ที่ระดับ 163.88 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.43 ดัชนีผลผลิต (มูลค่าผลผลิต) อยู่ที่ระดับ 168.65 เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.23 ดัชนีการส่งสินค้า อยู่ที่ระดับ 159.63 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.43 ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 181.96 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.99 ดัชนีแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 115.33 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.21 ดัชนีผลิตภาพแรงงานอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 144.05 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.90 ขณะที่ดัชนีอัตราส่วนสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง อยู่ที่ระดับ 188.94 ลดลงร้อยละ 25.56 โดยมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 65.5
กำลังโหลดความคิดเห็น