xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานสรุปภาวะพลังงานเสนอ ครม.ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระทรวงพลังงาน สรุปภาวะพลังงาน เตรียมเสนอ ครม.ใหม่ โดยเรื่องเร่งด่วนคือ การคงประกาศรับซื้อไอพีพี เดือนมีนาคม 2550 การเดินหน้าอนุรักษ์พลังงาน และส่งเสริมพลังงานทดแทน พร้อมเน้นย้ำราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ในภาวะผันผวนต่อไป ด้านเรคกูเลเตอร์ประชุม 5 ตุลาคมนี้ ย้ำเอฟทีงวดนี้ลด 7 สตางค์ แต่งวดถัดไปมีโอกาส ขึ้น 8 สตางค์/หน่วย

นายพรชัย รุจิประภา รองปลัดกระทรวงพลังงาน และรักษาการปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้ (3 ต.ค.) ได้ประชุมร่วมกับผู้บริหารหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจของกระทรวงฯ เพื่อหารือและสรุปเรื่องที่จะเตรียมเสนอต่อคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยแบ่งประเด็นหลักออกเป็นเรื่องการรายงานสถานการณ์พลังงานของตลาดโลกและของไทย ซึ่งแม้ว่าราคาน้ำมันในขณะนี้จะลดลงบ้าง แต่จากการประเมินสถานการณ์คาดว่า ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกจะผันผวนต่อไป และราคาไม่น่าจะต่ำกว่า 55-60 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

นอกจากนี้ จะเตรียมเสนอเรื่องการบริหารจัดการพลังงานหลัก การส่งเสริมเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน โดยประเด็นเหล่านี้ ทางคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติได้ให้ความสำคัญและให้นโยบายมาก่อนหน้านี้แล้ว ว่าต้องมีการสานต่องานเดิมที่ทำไว้ เพื่อลดผลกระทบผลพวงน้ำมันแพง โดยกระทรวงพลังงาน จะเสนอภาพรวมว่าการส่งเสริมที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เช่น กรณีการส่งเสริมเอทานอล ยังกำหนดกรอบตามเดิมว่าจะยกเลิกเบนซิน 95 ในวันที่ 1 มกราคม 2550 แต่จะเปิดโอกาสให้แต่ละปั๊มสามารถล้างถังหรือเตรียมถังให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนมาขายแก๊สโซฮอล์ในระยะเวลามากกว่า 1 เดือน หลังวันที่ 1 มกราคม 2550 เรื่องการเดินหน้าส่งเสริมไบโอดีเซล เรื่องปั๊มก๊าซเอ็นจีวี ที่จะยังคงยืนยันว่าต้องส่งเสริมต่อเนื่อง และประมาณกลางเดือนมกราคม 2550 จะมีปั๊มเอ็นจีวีรวม 218 ปั๊ม

สำหรับเรื่องการบริหารจัดการพลังงานหลัก นายพรชัย กล่าวว่า จะมีการสรุปนโยบายไฟฟ้าว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะการประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน (ไอพีพี) ที่มีการกำหนดนโยบายว่าจะมีการประกาศประมูลในเดือนมีนาคม 2550 ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับการจัดหาไฟฟ้าในอนาคต โครงการจัดซื้อ-จัดหาก๊าซธรรมชาติ ทั้งโครงการท่อก๊าซฯ โครงการจัดซื้อก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) โครงการรับซื้อก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน และประเทศอื่น ๆ รวมไปถึงการจัดการเกี่ยวกับน้ำมันทั้งการบริโภค การนำเข้า ความจำเป็นเรื่องการสร้างโรงกลั่นน้ำมันแห่งใหม่มีความจำเป็นหรือไม่ รวมไปถึงวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังคงเหลือหนี้การชดเชยราคาน้ำมันและการชดเชยก๊าซหุงต้ม

“ภาพรวมแล้ว เรื่องการส่งเสริมการประหยัดพลังงานและพลังงานทดแทนจะมีอยู่ต่อไป ซึ่งในขณะนี้การรณรงค์ประสบผลที่ดีมีการลดการใช้พลังงานเมื่อวัดกับสัดส่วนจีดีพีเหลือในอัตรา 1.2 ต่อ 1 และตามเป้าหมายเดิมกำหนดว่าในปี 2554 จะลดเหลือ 1 ต่อ 1 ซึ่งคงให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่พิจารณาว่าจะยังคงเป้าหมายนี้ต่อไปหรือไม่” นายพรชัย กล่าว

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการไฟฟ้า (เรคกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ในวันที่ 5 ตุลาคมนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการประเมินค่าเอฟที ซึ่งค่างวดเดือนตุลาคม 2549 – มกราคม 2550 จะลดลง 7 สตางค์/หน่วย แต่จากรายงานเบื้องต้นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า ในงวดหน้า คืองวดเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2550 ค่าเอฟทีอาจจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 8 สตางค์/หน่วย จากก๊าซธรรมชาติที่เข้ามาไม่ทัน ทำให้การใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นอีก แม้จะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP เข้ามาแล้วก็ตาม

สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเอฟทีในงวดเดือนตุลาคม 2549-มกราคม 2550 ลดลง คือ การที่โรงไฟฟ้า BLCP
ที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงได้เข้ามาในระบบไฟฟ้า ทำให้สามารถทดแทนโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาได้ถึง 2,610 ล้านหน่วย คิดเป็นเงินที่ประหยัดได้กว่า 6,000 บาท หรือคิดเป็นค่าเอฟทีลดลงถึง 13 สตางค์/หน่วย แต่เนื่องจากราคาเชื้อเพลิงอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ค่าเอฟทีต้องปรับขึ้นประมาณ 6 สตางค์ เมื่อนำมาหักลบกับค่าเอฟทีที่ลดลงจากถ่านหิน BLCP แล้ว ค่าเอฟทีงวดนี้จึงลดได้ 7 สตางค์/หน่วย จากหน่วยละ 38.61 สตางค์ เหลือ 31.8 สตางค์ เมื่อรวมกับค่าไฟฐานแล้ว จะเรียกเก็บที่ 3.03 บาท/หน่วย

แหล่งข่าวกล่าวต่ออีกว่า หากไม่ยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ่อนอก และหินกรูด จะให้ค่าเอฟทีลดลงได้อย่างน้อย 20 สตางค์/หน่วย เพราะจะสามารถเข้ามาทดแทนการผลิตไฟฟ้าโดยใช้น้ำมันเตาทั้งหมด โดยค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ หน่วยละประมาณ 1.90 บาท ส่วนน้ำมันเตาหน่วยละ 4.25 บาท รวมทั้งค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหินยังถูกกว่าก๊าซธรรมชาติด้วย

ส่วนค่าเอฟทีในงวดเดือนกุมภาพันธ์ – พฤษภาคม 2550 ที่อาจจะปรับขึ้น 8 สตางค์/หน่วย ตามรายงานจาก กฟผ. นั้น เนื่องมาจากหน่วยการใช้ไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้น และยังคงต้องใช้น้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าอยู่กว่า 1,580 ล้านหน่วย นอกจากนั้น ราคาเชื้อเพลิงยังปรับเพิ่มขึ้นด้วย ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติราคาเพิ่มขึ้นจาก 195.6 บาท/ล้านบีทียู เป็น 202 บาท/ล้านบีทียู น้ำมันเตาเพิ่มขึ้นจาก 16.3 บาท/ลิตร เป็น 17 บาท/ลิตร และน้ำมันดีเซล ราคาเพิ่มจาก 19.89 บาท/ลิตร เป็น 25.43 บาท/ลิตร
กำลังโหลดความคิดเห็น